วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

ดอยอ่างขาง
            ดอยอ่างขาง เป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งมีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่หาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง โดยมีชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง จีนฮ่อ และไทยใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมแปลงทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ ท้อ บ๊วย พลัม ฯลฯ พืชผักเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ เช่น แคร์รอท ผักสลัดต่างๆ สวนสมุนไพร แปลงดอกไม้ เช่น คาร์เนชั่น กุหลาบ แอสเตอร์ เบญจมาศ ฯลฯ โรงบรรจุผลไม้เพื่อส่งจำหน่ายและสหกรณ์ของโครงการ ซึ่งจำหน่ายผลิตผลที่ปลูกในบริเวณโครงการให้แก่นักท่องเที่ยวตามฤดูกาล

 

          ดอยอ่างขาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ 137 กม. แยกซ้ายเข้าไปอีก 25 กม. ดอยอ่างขางเป็นเทือกดอยสูงติดกับสันเขาพรมแดนประเทศพม่า จุดเด่นที่นักท่องเที่ยวไปเยือนดอยอ่างขางคือการไปเที่ยวชมดอกไม้เมืองหนาวภายโครงการฯ สถานีเกษตรดอยอ่างขางได้รับการจัดตั้งเมื่อปี 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อวิจัยพืชเมืองหนาวเพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่นและหยุดการทำลายป่า ดอยอ่างขางมีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบในหุบเขาลักษณะเหมือนท้องกะทะหรือเหมือนอ่าง อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,400 เมตร ภายในโครงการมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาก เช่น แปลงปลูกไม้ดอกไม้ประดับกลางแจ้ง แปลงปลูกไม้ในร่ม แปลงทดลองกุหลาบ แปลงปลูกผัก แปลงปลูกผักในร่ม สวนท้อ สวนบ๊วย ป่าซากุระ ป่าเมเปิ้ล พระตำหนักดอยอ่างขาง

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)


         พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาก) ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการเผยแพร่พระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการลดพื้นที่ปลูกพืชเสพติดโดยสันติวิธี และพระราชวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา รวมทั้ง วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นที่สูงภาคเหนือ อย่างรอบด้าน ครบวงจร และยั่งยืน ของพระองค์
เนื่องจาก พิพิธภัณฑ์ฯ มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (living SITE MUSEUM) สถานที่ที่ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ จึงประกอบไปด้วย
๑. อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสะสม และเก็บรวบรวมข้อมูล อันเกี่ยวข้องกับมูลนิธิโครงการหลวง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) และ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
๒. อาคารโรงงานหลวงฯ เป็นพื้นที่จัดแสดงสายการผลิตและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ ดอยคำเช่น ลิ้นจี่กระป๋อง สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง น้ำดื่มบริสุทธิ์ เสาวรสแช่แข็ง และบ๊วยดอง เป็นต้น รวมทั้ง แปลงสาธิตวัตถุดิบ
๓. ชุมชนบ้านยาง อดีตเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวยาง (ปะกากะญอ) แต่ถูกชาวจีนยูนนานที่อพยพหนีภัยสงครามการเมืองจากประเทศจีน เข้ามาลงหลักปักฐานพึ่งพระบรมโพธิสมภารเมื่อกว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านวัฒนธรรม ความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา รวมทั้ง การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอุทกภัยน้ำป่า
นอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของแนวทางการพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีปรัชญาที่ประธานมูลนิธิโครงการหลวง (หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี) สรุปความจากแนวพระราชดำริที่ว่า ผลสัมฤทธิ์ของมูลนิธิโครงการหลวงคือการ ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลกนั้นหมายความว่าอย่างไร
พิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งอยู่ที่ตีนดอยอ่างขาง แยกจากทางขึ้นสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเที่ยวชมประมาณ ๑ ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังมีคำบรรยายภาพและนิทรรศการ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย

อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก


         อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตท้องที่ ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะภูมิประเทศสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาผีปันน้ำ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าและของป่าหลายชนิด มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่งดงาม เช่น ถ้ำห้วยบอน บ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ห้วยแม่ใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ และสามารถเดินทางเข้าไปเที่ยวได้โดยสะดวกสบาย มีเนื้อที่ประมาณ 380 ตารางกิโลเมตร หรือ 237,500 ไร่ ได้ประกาศจัดตั้งเป็น "อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง" เมื่อวันที่4 กันยายน 2543

โป่งน้ำร้อนฝาง

        
       
         โป่งน้ำร้อนฝางเป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเกิดจากความร้อนใต้ดิน มีไอร้อนคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา อุณหภูมิของน้ำประมาณ 40-88 องศาเซสเซียล มีจำนวนมากมายหลายบ่อในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ (บ่อใหญ่มีไอน้ำร้อนพุ่งขึ้นสูงถึง 40-50 เมตร) อุทยานแห่งชาติได้จัดบริการห้องอาบน้ำแร่และอบไอน้ำ บ่อน้ำร้อนจะอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเล็กน้อย และทางอุทยานแห่งชาติได้จัดให้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติขึ้นเขาผ่านป่าเบญจพรรณมาถึงบ่อน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร

อ้างอิง
- https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B8%9D%E0%B8%B2%E0%B8%87



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น